คำปรารภ

คำปรารภ
รูปนี้ถ่ายเมือวันที่ไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อประมาณมีนาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต...แต่แล้วชีวิตก็หักเหอีกครั้ง เมื่อฉันตัดสินใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาวิชาชีพครู หลายคนบอกฉันว่าดี หลายคนบอกว่าฉันถอยหลังเข้าคลองหรือเปล่า แต่สำหรับตัวฉันเองฉันคิดว่าไม่ว่าจะจบสาขาใดมาก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วิชาว่าด้วยความเป็นครู แหละฉันก็ยังคงเชื่อมั่นว่าฉันไม่ได้คิดผิด ฉันเป็นผู้ที่ชอบเรียนหนังสือทุกรูปแบบไม่ว่าเป็นเรื่องใด ฉันสนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งหมด ฉันเคยเป็นนักเรียนผ่านระบบการเรียนแบบ e-learning Virtual classroom ตั้งแต่ประมาณปี 47-49 เรียนผ่าน CAI /Multimedia ผ่านสื่อหลายชนิด บ่อยครั้งก็ฟังเทศน์ออนไลน์ บางครั้งก็ไปนั่งฟังพระเทศน์ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ซึ่งบางครั้งก็สามารถแนะนำทางออกของปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้ไม่น้อย ถ้าถามว่าฉันจะเรียนอะไรต่ออีกไหม แน่นอนว่าน้ำหน้าอย่างฉันคงเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะไม่เรียน ว่าแต่ว่าจะเรียนอะไร ปริญญาเอก หรือหลักสูตรใดที่ฉันสนใจ ก็คงจะต้องให้จบหลักสูตรนี้ก่อนซึ่งก็ใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว ไม่ต้องให้กำลังใจก็ได้ แต่ถ้าจะให้กำลังใจกันก็ขอขอบคุณนะค่ะ แต่คนเราถ้ามัวแต่รอกำลังใจจากผู้อื่นอยู่บางครั้งอาจหมดกำลังใจไปก่อนก็ได้ เพราะผู้คนสมัยนี้นอกจากไม่ค่อยให้กำลังใจกันแล้ว ยังทำร้ายจิตใจบั่นทอนกำลังใจของผู้อื่น เห็นกันบ่อยจนชินหูชินตา ฉันคงเก็บความทรงจำส่วนที่น่าประทับใจของการเรียน ป.บัณฑิตไว้อย่างแน่นอน มันจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้านี้แล้ว สำหรับในอนาคตคงจะนำความรู้นี้ไปใช้ในสิ่งที่ดีและท่านอาจารย์อาจคาดไม่ถึง... แต่อย่างเสีย จะไม่ให้ใครมาตำหนิได้ว่าจบ ป.บัณฑิตมาได้อย่างไร มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงต้องไม่เสียใจที่เคยรับคนอย่างฉันเป็นนักศึกษาที่นี้..เพราะอย่างน้อยฉันก็เคยได้รับเงินทุนการศึกษาโครงการเรียนดีมีน้ำใจ ถึงไม่มากด้วยจำนวน หากแต่ว่ามากด้วยน้ำใจ แต่ถ้าจะให้ดีขอทุนเรียนปริญญาเอกด้วยได้ไหมค่ะ มีทุนของตนเองอยู่เหมือนกันแต่เกรงว่าจะไม่พอ ถ้ามหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงจะให้โอกาสก็คงจะน้อมรับด้วยความยินดียิ่ง และถ้าไม่ให้อย่างไรเสียก็ขอขอบคุณแต่ไม่ง้อนะค่ะ ฝังไว้ใต้ถุนบ้านอีกตั้งหลายไห...คร้า...

ดังดอกไม้บาน

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

รศ.ธงทอง ฟันธง ระบอบปธน. ไม่เหมาะกับสังคมไทย

เลขาธิการสภาการศึกษาไทยมั่นใจหากเรามีระบอบประธานาธิบดี ก็จะเป็นระบบที่ห่วยที่สุดในโลก ไปไม่รอด เพราะไม่สามารถปลูกศรัทธาจากคนได้ ยืนยันชัด การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับลูกหลาน ดีที่สุดแล้ว
รศ.ธงทอง จันทรางศุ  เลขาธิการสภาการศึกษาไทย บรรยายเรื่อง “ต้นไม้ไม่ลืมราก” (ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย) ในงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 3 ”นวัตกรรมนำสังคม : Best Practice from Lab Schools”  จัดโดยโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยในช่วงท้ายของการบรรยาย รศ.ธงทอง ตอบคำถาม เกี่ยวกับการสอนนักเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง  ว่า หน้าที่ของครู คือ การสอนตามความเป็นจริง และพยายามหาทางออกโดยการยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
เลขาธิการสภาการศึกษาไทย  กล่าวว่า โลกนี้มีระบอบการปกครอง 3-4 อย่างให้เราเลือก หรือสุดท้ายอาจเหลือแค่ 2 อย่าง คือประชาธิปไตย และไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งระบอบประชาธิปไตย คือการฟังเสียงคน แล้วให้คนมามีบทบาทมีส่วนร่วม  ที่ไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรลงคะแนน แต่หมายถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การเข้ามาเป็นกำลังของบ้านเมือง ส่วนอีกระบอบไม่เป็นประชาธิปไตย การบริหารจัดการอยู่ในกลุ่มคนวงจำกัด
“ระบอบประชาธิปไตย วิธีการต้องเป็นประชาธิปไตย และจุดมุ่งหมายก็ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย ผมจึงไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาอย่างยิ่งกับการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง ว่า จะเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทย เพราะวิธีการผิด การปฏิวัติในประเทศไทยก็พิสูจน์มาแล้วทุกครั้ง แม้กระทั่งครั้งสุดท้าย ก็พิสูจน์แล้วว่า ห่วย ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรให้เมืองไทยได้ มีแต่เพิ่มปัญหาทับถม และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราคิดสั้นมากกว่าคิดยาว และเป็นคนไม่อดทน คิดเพียงต้องการการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้า ซึ่งวิถีประชาธิปไตย ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ”
ส่วนรูปแบบประมุขของรัฐนั้น รศ.ธงทอง กล่าวว่า ในโลกนี้ก็มี 2 ประเภท  พระมหากษัตริย์ กับประธานาธิบดี โดยระบบพระมหากษัตริย์ เข้าสู่ตำแหน่งโดยการสืบราชสันตติวงศ์ แม้ในความเป็นระบบพระมหากษัตริย์ก็แตกต่างกัน  พระมหากษัตริย์ในประเทศซาอุดิอารเบีย หรือประเทศบรูไน ไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในไทยหรือประเทศญี่ปุ่น แม้ชื่อพระมหากษัตริย์คล้ายกัน แต่ที่บรูไนเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
“เราเคยให้เด็กของเรารู้หรือไม่ว่า การฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เมื่อปี 2549 พระเจ้าแผ่นดินบรูไนก็มา พออีก 6 เดือนต่อมา มีการประชุมอาเซียนซัมมิท มาเหมือนกัน แต่เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย เราเก็บเรื่องเหล่านี้มาบอกเด็กเราบ้างหรือไม่”
รศ.ธงทอง กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในบ้านเราว่า  เป็นสถาบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเชื่อว่าคนไทย ไม่ว่าจะให้เลือกเมื่อไหร่ คราวใด คราใด เราจะเลือกการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐอยู่เสมอ เทียบอีกทางเลือกหนึ่งคือ ระบบประธานาธิบดี ตนคิดว่าเป็นทางที่ไม่เหมาะกับอัธยาศัยของเรา หรือหากเรามีระบบประธานาธิบดี ก็จะเป็นระบบที่ 'ห่วย' ที่สุดในโลก อยู่กันไม่รอด เพราะไม่สามารถปลูกศรัทธาจากคนได้
“ระบบพระมหากษัตริย์ในบ้านเรา มีวิวัฒนาการมา เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระราชอำนาจของพระองค์ตอนต้นรัชกาลและปลายรัชกาล ก็ไม่เหมือนกัน แม้ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากเราดูเหตุการณ์ในรัชกาลอันยาวนานกว่า 60 ปี เราจะพบว่า พระราชสถานะในใจคนก็ไม่เหมือนกัน ในทางกฎหมายอาจไม่แตกต่างกัน พระราชสถานะตอนต้นรัชกาลกับปัจจุบันนี้ก็ไม่เหมือนกัน เวลาที่เนิ่นนาน พระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของคนมาช้านาน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้พระบารมี อยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ”
สำหรับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น รศ.ธงทอง กล่าวว่า  มีความเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ แม้ในรัชกาลปัจจุบัน ก็เป็นอย่างนี้ ในอนาคตสืบเนื่องในวันข้างหน้าไม่รู้สิ้นสุด เราก็ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจและตระหนักรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ว่า ความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเป้าหมายสูงสุดที่อยู่ในใจของเราที่เราเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกหลาน ซึ่งหากให้เลือกทางเลือกทั้งหมดแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับเรา

ขอบคุณเว็บไซต์ http://live.ku.ac.th/?p=868

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น