คำปรารภ

คำปรารภ
รูปนี้ถ่ายเมือวันที่ไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อประมาณมีนาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต...แต่แล้วชีวิตก็หักเหอีกครั้ง เมื่อฉันตัดสินใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาวิชาชีพครู หลายคนบอกฉันว่าดี หลายคนบอกว่าฉันถอยหลังเข้าคลองหรือเปล่า แต่สำหรับตัวฉันเองฉันคิดว่าไม่ว่าจะจบสาขาใดมาก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วิชาว่าด้วยความเป็นครู แหละฉันก็ยังคงเชื่อมั่นว่าฉันไม่ได้คิดผิด ฉันเป็นผู้ที่ชอบเรียนหนังสือทุกรูปแบบไม่ว่าเป็นเรื่องใด ฉันสนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งหมด ฉันเคยเป็นนักเรียนผ่านระบบการเรียนแบบ e-learning Virtual classroom ตั้งแต่ประมาณปี 47-49 เรียนผ่าน CAI /Multimedia ผ่านสื่อหลายชนิด บ่อยครั้งก็ฟังเทศน์ออนไลน์ บางครั้งก็ไปนั่งฟังพระเทศน์ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ซึ่งบางครั้งก็สามารถแนะนำทางออกของปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้ไม่น้อย ถ้าถามว่าฉันจะเรียนอะไรต่ออีกไหม แน่นอนว่าน้ำหน้าอย่างฉันคงเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะไม่เรียน ว่าแต่ว่าจะเรียนอะไร ปริญญาเอก หรือหลักสูตรใดที่ฉันสนใจ ก็คงจะต้องให้จบหลักสูตรนี้ก่อนซึ่งก็ใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว ไม่ต้องให้กำลังใจก็ได้ แต่ถ้าจะให้กำลังใจกันก็ขอขอบคุณนะค่ะ แต่คนเราถ้ามัวแต่รอกำลังใจจากผู้อื่นอยู่บางครั้งอาจหมดกำลังใจไปก่อนก็ได้ เพราะผู้คนสมัยนี้นอกจากไม่ค่อยให้กำลังใจกันแล้ว ยังทำร้ายจิตใจบั่นทอนกำลังใจของผู้อื่น เห็นกันบ่อยจนชินหูชินตา ฉันคงเก็บความทรงจำส่วนที่น่าประทับใจของการเรียน ป.บัณฑิตไว้อย่างแน่นอน มันจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้านี้แล้ว สำหรับในอนาคตคงจะนำความรู้นี้ไปใช้ในสิ่งที่ดีและท่านอาจารย์อาจคาดไม่ถึง... แต่อย่างเสีย จะไม่ให้ใครมาตำหนิได้ว่าจบ ป.บัณฑิตมาได้อย่างไร มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงต้องไม่เสียใจที่เคยรับคนอย่างฉันเป็นนักศึกษาที่นี้..เพราะอย่างน้อยฉันก็เคยได้รับเงินทุนการศึกษาโครงการเรียนดีมีน้ำใจ ถึงไม่มากด้วยจำนวน หากแต่ว่ามากด้วยน้ำใจ แต่ถ้าจะให้ดีขอทุนเรียนปริญญาเอกด้วยได้ไหมค่ะ มีทุนของตนเองอยู่เหมือนกันแต่เกรงว่าจะไม่พอ ถ้ามหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงจะให้โอกาสก็คงจะน้อมรับด้วยความยินดียิ่ง และถ้าไม่ให้อย่างไรเสียก็ขอขอบคุณแต่ไม่ง้อนะค่ะ ฝังไว้ใต้ถุนบ้านอีกตั้งหลายไห...คร้า...

ดังดอกไม้บาน

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

ในหลวง"ครูของแผ่นดิน"

ดร.สุเมธ ระบุ ตลอดระยะเวลาที่ได้ถวายงาน ทรงสอนเรื่องแผ่นดินให้รู้จัก เข้าใจ ดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้รู้จักการชีวิต ใช้พฤติกรรมทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วน ศ.กิตติคุณ สุมน แนะการจัดการศึกษาไทย ควรน้อมนำหลักการวิธีการที่ทรงพระราชทานมาเป็นแบบอย่าง เป็นประทีปส่องทาง เปลี่ยนสังคมอวิชาเป็นสังคมคุณธรรม
วานนี้ (4 มิ.ย.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเฉลิม พระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์แบบ” ณ ห้อง 105  อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเน้นประเด็นเรื่องพระราชปณิธานและพระราชดำริด้านการศึกษา มีรศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา และศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง
เริ่มต้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษเรื่อง “ความเป็นครูในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ถวายงานมา 30 ปี ทรงสอนตนเรื่องแผ่นดิน สอนให้รู้จัก เข้าใจเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ สอนให้รู้จักการชีวิต รู้จักใช้พฤติกรรมทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยที่ใดสอนครบถ้วนขนาดนี้ อีกทั้งไม่มีในตำราใดๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสอนในห้องเรียนจริงทั้งสิ้น
“เราถวายพระสมัญญานาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครูแผ่นดิน เปรียบเหมือนเราทุกคนเป็นศิษย์ แต่ผมว่า เราเป็นศิษย์ที่แย่ พวกเราคนไทยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ๆ ชอบเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองพระองค์ท่าน ชอบได้ยิน แต่ไม่เคยฟังพระองค์ท่าน  เรามีความชื่นชมศรัทธาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยินดีที่จะเห็นเสด็จฯไปที่ไหน ซาบซึ้ง แต่การเมื่อถามลงไปลึกๆ พระองค์ท่านทรงทำอะไรอยู่ ทรงสอนอะไรอยู่ ไม่มีใครตอบได้ เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน แต่ความลึกซึ้ง ไม่ค่อยจะมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งทีไรเอียงหูได้ยิน เราจะรอคอยว่าท่านจะดุใคร คนไทยชอบมาก แต่ทรงสอนเรื่องอะไร ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีแม้สักประโยคที่มีค่า ทรงสอน เสนอแนะอะไร น้อยคนนักหรือเกือบไม่มี เพราะความชื่นชม ความประทับใจนั้นผ่านไปแล้ว”
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ในฐานะที่ทรงเป็นครู ทรงสอนมา 60 กว่าปีแล้ว แม้แต่ประโยคแรก “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม….” พวกเราท่องขึ้นใจ ทรงกล่าวในวันนั้น ความหมายในการสัญญาของพระองค์มีแค่ไหนอย่างไร
“ข้อสังเกตในฐานะรัฐศาสตร์ ทำไมพระองค์ไม่ใช้คำว่า ปกครอง แผ่นดิน ทรงใช้คำว่า ครอง แผ่นดิน เหมือนการครองเรือน ครองสมณเพศ ครองจีวร ครองชีวิตคู่ เป็นคำพูดที่มีเมตตา มีความรัก ขณะเดียวกันคำว่า ปกครอง เป็นเรื่องของอำนาจ ตัวบทกฎหมาย ความรู้สึกจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้คำว่า ครอง แผ่นดิน ทำให้แผ่นดินมีเกียรติ มีค่าควรรักษา ซึ่งความเรียบง่ายของคำพูดที่เข้าถึงแก่นชีวิตและจิตใจเหล่านี้ คนไทยไม่ได้สนใจ แต่พอมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจถึงมาตื่นเรื่องธรรมาภิบาล”
ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน และทรงเป็นครูของแผ่น เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระองค์ท่านทรงเป็นครูที่พยายามจูงใจ ชักจูง ทำให้ดู แสดงให้เห็น สอนตลอดเวลา ไม่เคยบีบบังคับ จะเห็นได้จากโครงการสาธิต ทดลองต่างๆ จนกระทั่งแน่ใจพอสมควร งานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมทุกสาชา เป็นบทเรียนที่มีค่ามหาศาล มีนักวิชาการหลายคนวิพากษ์วิจารณ์โครงการพระราชดำริ ไม่คุ้ม ทำไปทำไม แต่บางคนลืมไปว่า บางโครงการเป็นโครงการเข้าไปแก้ไขปัญหา ไม่ใช่โครงการพัฒนาที่เข้าไปเพิ่มรายได้ อาจไม่คุ้มแต่ต่ำสุดแล้ว พระองค์ท่านไม่คิดเรื่องตัวเงิน แต่ดูคนเป็นมนุษย์
“ที่บ้านเมืองเราเวลานี้ที่ยุ่งยาก เพราะคิดตามฝรั่ง และตกเป็นทาสคำว่าสากล ติดปลักสากลจนลืมภูมิปัญญาของเราเอง ดังนั้นเราควรให้ความเคารพภูมิสังคม ซึ่งพระองค์ท่านทรงสอนให้เรายึดฐานเดิมของเราไว้ รู้เขารู้เรา แต่อย่าเอามาทั้งดุ้น หรือแม้กระทั้งเรื่องการจดสิทธิบัตร พระองค์ก็ต้องการสอนให้คนไทยรู้จักปกป้องผลงานของตนเอง”
ดร.สุเมธ กล่าวถึงการพัฒนาภูมิสังคมแบบยั่งยืนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่องภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ทรงสอนให้เคารพคน เคารพวิถีชีวิต  รู้จักใจคน รู้ความต้องการของคนตรงหรือไม่ อีกทั้งพระองค์ทรงสอน เรื่องการพัฒนาต้องระเบิดจากข้างใน ให้คนข้างในมีพร้อม ไม่ควรไปยัดเยียด
ส่วนเรื่องของการใช้ภาษา เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระองค์ทรงศึกษาที่ต่างประเทศ แต่สามารถนำตะวันตกกับตะวันออกมาผสมโดยมีฐานความเป็นไทย ทรงระวังเรื่องการใช้ภาษา เราจะพบว่า พระองค์ท่านจะหลุดภาษาอังกฤษออกมาน้อยมาก หรือหากพูดถึงภาษาอังกฤษ ก็จะทรงแปลความหมายด้วยทุกครั้ง
ต่อจากนั้น ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต บรรยายพิเศษเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาปัญญา” โดยเห็นว่า การจัดการศึกษาไทย ควรน้อมนำหลักการวิธีการที่ทรงพระราชทานมาเป็นแบบอย่าง เป็นประทีปส่องทาง
“ไฟที่จุดช่วงที่ผ่านมา จุดแล้วมืด ดังนั้นเราควรขอพึ่งพระบรมโภธิสมภาร นำพระปรีชาสามารถมาใช้เป็นหนทางนำแสงสว่างเพื่อสังคมไทย และพัฒนาไปสู่สังคมคุณธรรม หลุดพ้นจากโมหะภูมิ เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญ ที่จะเปลี่ยนสังคมอวิชาเป็นสังคมคุณธรรมได้”
สุดท้าย ศ.กิตติคุณ สุมน กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นทาสข้อมูลข่าวสาร อยู่ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสาร  ไม่ว่าจะเป็นจากการรับฟังวิทยุ โทรทัศน์ หรือผ่านทางทวิตเตอร์ เฟชบุค ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ บางครั้งก็เป็นเรื่องของข่าวลือ ดังนั้นการรับข้อมูลข่าวสารตรงนี้ต้องรับมาจากหลายแหล่ง หลายฝ่าย หลายข้าง โดยดำเนินตามรอยพระยุคลบาท วิเคราะห์ ไตร่ตรอง อย่าเลือกรับข้อมูลด้วยความรัก ความเกลียด ความชอบหรือชัง เป็นอันขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น