คำปรารภ

คำปรารภ
รูปนี้ถ่ายเมือวันที่ไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อประมาณมีนาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต...แต่แล้วชีวิตก็หักเหอีกครั้ง เมื่อฉันตัดสินใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาวิชาชีพครู หลายคนบอกฉันว่าดี หลายคนบอกว่าฉันถอยหลังเข้าคลองหรือเปล่า แต่สำหรับตัวฉันเองฉันคิดว่าไม่ว่าจะจบสาขาใดมาก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วิชาว่าด้วยความเป็นครู แหละฉันก็ยังคงเชื่อมั่นว่าฉันไม่ได้คิดผิด ฉันเป็นผู้ที่ชอบเรียนหนังสือทุกรูปแบบไม่ว่าเป็นเรื่องใด ฉันสนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ทั้งหมด ฉันเคยเป็นนักเรียนผ่านระบบการเรียนแบบ e-learning Virtual classroom ตั้งแต่ประมาณปี 47-49 เรียนผ่าน CAI /Multimedia ผ่านสื่อหลายชนิด บ่อยครั้งก็ฟังเทศน์ออนไลน์ บางครั้งก็ไปนั่งฟังพระเทศน์ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ซึ่งบางครั้งก็สามารถแนะนำทางออกของปัญหาต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้ไม่น้อย ถ้าถามว่าฉันจะเรียนอะไรต่ออีกไหม แน่นอนว่าน้ำหน้าอย่างฉันคงเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะไม่เรียน ว่าแต่ว่าจะเรียนอะไร ปริญญาเอก หรือหลักสูตรใดที่ฉันสนใจ ก็คงจะต้องให้จบหลักสูตรนี้ก่อนซึ่งก็ใกล้ความจริงเข้ามาแล้ว ไม่ต้องให้กำลังใจก็ได้ แต่ถ้าจะให้กำลังใจกันก็ขอขอบคุณนะค่ะ แต่คนเราถ้ามัวแต่รอกำลังใจจากผู้อื่นอยู่บางครั้งอาจหมดกำลังใจไปก่อนก็ได้ เพราะผู้คนสมัยนี้นอกจากไม่ค่อยให้กำลังใจกันแล้ว ยังทำร้ายจิตใจบั่นทอนกำลังใจของผู้อื่น เห็นกันบ่อยจนชินหูชินตา ฉันคงเก็บความทรงจำส่วนที่น่าประทับใจของการเรียน ป.บัณฑิตไว้อย่างแน่นอน มันจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้านี้แล้ว สำหรับในอนาคตคงจะนำความรู้นี้ไปใช้ในสิ่งที่ดีและท่านอาจารย์อาจคาดไม่ถึง... แต่อย่างเสีย จะไม่ให้ใครมาตำหนิได้ว่าจบ ป.บัณฑิตมาได้อย่างไร มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงต้องไม่เสียใจที่เคยรับคนอย่างฉันเป็นนักศึกษาที่นี้..เพราะอย่างน้อยฉันก็เคยได้รับเงินทุนการศึกษาโครงการเรียนดีมีน้ำใจ ถึงไม่มากด้วยจำนวน หากแต่ว่ามากด้วยน้ำใจ แต่ถ้าจะให้ดีขอทุนเรียนปริญญาเอกด้วยได้ไหมค่ะ มีทุนของตนเองอยู่เหมือนกันแต่เกรงว่าจะไม่พอ ถ้ามหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงจะให้โอกาสก็คงจะน้อมรับด้วยความยินดียิ่ง และถ้าไม่ให้อย่างไรเสียก็ขอขอบคุณแต่ไม่ง้อนะค่ะ ฝังไว้ใต้ถุนบ้านอีกตั้งหลายไห...คร้า...

ดังดอกไม้บาน

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

“การเรียนการสอนนอกกรอบ”

มีชัย วีระไวทยะ” ชี้ถึงเวลาต้องปฏิวัติ เลิกคิดโรงเรียนเป็นรถเมล์ ผ่านมาแล้วผ่านไป เร่งสร้างให้ทุกที่เป็นที่มีความสุข  ขณะที่ดร.สรยุทธ แนะอาจารย์คิดใหม่ให้มีความสุขในการสอน เชื่อนักเรียนก็จะมีความสุขในการเรียน
เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)จัดการประชุมเสวนาวิชาการเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง “การเรียนการสอนนอกกรอบ” มีนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ครูใหญ่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ,รองศาสตราจารย์ ประภาภัทร  นิยม  ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ร่วมเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อัศวิน  เนตรโพธิ์แก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
นายมีชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้โรงเรียนทุกที่มีความทุกข์ ต้องสร้างให้เป็นที่มีความสุข ต้องปฏิวัติอย่าให้ทุกคนคิดเพียงว่าโรงเรียนเป็นรถเมล์ ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ต้องเป็นที่ของทุกคน ที่ต้องคิดถึง สิ่งสำคัญ คือ อย่าคิดว่านักเรียนเป็นเด็ก แต่ต้องคิดว่า พวกเขาสามารถทำอะไรได้หลากหลายอย่าง ต้องสอนให้คิดเป็น ทำเป็น นอกจากนั้น ต้องดูแลสังคมด้วย
“เรื่องความเสมอภาคเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การสอนเพียงเขียนออกเขียนได้ แต่ต้องสอนให้คนมีทักษะในด้านของความคิดริเริ่มใหม่ๆ มองมุมใหม่ เพราะคนไทยมักมุ่งเรื่องในอดีต แทนที่มุ่งไปสู่อนาคต ทำให้วันนี้มีผู้นำน้อยที่สามารถคิดนอกกรอบได้ สังคมสร้างผู้ตามของเมื่อวาน แทนการสร้างผู้นำของวันพรุ่งนี้”
นายมีชัย กล่าวว่า การสร้างเป็นที่สุขถาวรในชีวิตมนุษย์ เราต้องช่วยทำให้มีโรงเรียนมีความหมายมากกว่าเป็นเพียงที่เรียน แต่ต้องเป็นที่สร้างโอกาสทั้งแก่เด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และผู้ปกครอง คนท้องถิ่น ที่ต้องส่งเสริมรายได้ จัดการอบรม ช่วยสอนทุกคนให้คิดเป็นอยู่ได้ ถึงจะเรียกว่า เป็นโรงเรียนอย่างสมบูรณ์แบบ
ขณะที่ดร.สรยุทธ  กล่าวถึงการเรียนการสอนนอกกรอบว่า สามารถทำได้ทุกที่ทั้งในระบบและนอกระบบ นอกห้องเรียนหรือในห้องเรียน หรือในระบบมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ เพียงต้องใช้ใจไปพร้อมๆกันให้แทรกซึมไปเรื่อยๆ ทั้งผู้สอนและผู้เรียน
“อย่างเช่น ในห้องเรียนวิชาชีววิทยา เริ่มต้นจากการใช้เรื่องจิตปัญญาศึกษา เข้ามาช่วย ใช้สามัญสำนึกมาใช้ ลองทำโดยการสอนแต่ละครั้งแบ่งเวลาให้วิชาละ 10 นาที แล้วเขียนความรู้สึกของแต่ละคนต่อวิชานี้เข้าไป 2 ข้อ คือ 1.อะไรโดนที่สุดสำหรับการเรียนการสอนในวันนี้ 2.อยากจะรู้ บ่น หรือด่า ในเวลาที่เรียนในวันนี้อย่างไรบ้าง แล้วกลับมาส่ง และเลือกบางส่วนกลับไปอ่านให้นักศึกษาฟัง จะเป็นใบประเมินการสอนไปในตัว ผลที่ได้ คือ ผู้เรียนจะได้ความรู้มากกว่าการพูดๆ ยัดๆ และคายออกมาในห้องสอบ ซึ่งตรงนี้ผู้สอนต้องเชื่อก่อนว่า สามารถเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เองจากตัวเขา  จากบรรยากาศในห้องเรียน ซึ่งจะดีมากกว่าระบบการเรียนการสอนแบบเก่า”
ดร.สรยุทธ กล่าวต่อว่า เราต้องมาปรับความคิดกันใหม่ด้วยว่า เมื่ออาจารย์มีความสุขในการสอน นักเรียนก็จะมีความสุขในการเรียนไปด้วย เป็นวิธีง่ายๆ แต่ได้ผล อาจารย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ไม่บ่น ไม่โมโห ทำอย่างไรให้เรารู้สึกเช่นนั้น เพื่อทุกคนไม่เครียด ผลประโยชน์ตกกับทั้งสองฝ่าย และใช้ใจไปพร้อมๆ กัน ในการเรียนแต่ละครั้ง
ส่วนรศ.ประภาภัทร กล่าวถึงการเรียนการสอนทำให้นอกกรอบว่า ต้องตั้งเอาไว้ตั้งแต่เป้าหมายของการศึกษา ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญมาก การตั้งคำถามว่าจะทำอะไรต่อไป เพื่อหาการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลก เช่น ที่มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ พอตั้งมาไม่ได้มุ่งสอนนักเรียน แต่เป็นการสอนครูด้วย เมื่อได้ครูที่ดีแล้วก็จะได้นักเรียนที่ดีด้วย
“การสอนให้รู้วิชาต้องให้คิดใหม่แก่ทุกคน ตั้งแต่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง หากผู้สอนตั้งท่าเป็นครูสอนวิชาก็ไม่ใช่การเรียนการสอน ต้องถอดโรงเรียนออกไปจากใจครู เพื่อเรียนรู้ใหม่ ต้องรู้ในปัจจุบัน อย่ายึดที่ตายตัว อย่างตอนนี้มีวิกฤตการเมืองหากใครใส่สีแดง มีการวิตกกังวลตัดสินไปแล้ว เนื่องจากมีชุดความคิดเดิม สิ่งต่างๆตรงนี้ล้วนมีความหมาย การเรียนการให้การศึกษาก็ต้องทำให้เปลี่ยนแปลง”
รศ.ประภาภัทร กล่าวว่า การสอนตามตำราเรียนไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า สอนเรื่องนั้นแก่ผู้เรียนแล้วเกิดความเข้าใจเพียงใด และผู้เรียนกับความรู้เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ อย่างต้องถามครูคณิตศาสตร์ว่า สอนเรื่องสมการไปทำไม แทนที่จะฝึกวิธีคิดเป็นระบบ นำไปต่อยอดได้ แต่ครูคณิตศาสตร์รู้เพียงการคิดเลข แต่คิดอย่างอื่นไม่เป็น ถ้ายังตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องสอน ปล่อยให้เด็กเล่น ปลอดภัยกว่า เพราะไม่ถูกครอบงำทางความคิด ซึ่งขณะที่เล่นเด็กก็ได้เรียนรู้ไปได้เอง นี่คือ การเรียนรู้แบบนอกกรอบ
“สิ่งต่างๆ ที่คิดทำต้องตั้งต้นที่ตัวเอง แทนที่มองข้างนอกต้องมองข้างใน และใคร่ครวญอย่างเหมาะสม ต้องทำความเข้าใจ การตั้งโจทย์จากสภาพที่เป็นจริง เป็นการเรียนทางหลัก นอกกรอบไปด้วย เรียนทางลัดไปด้วย เข้าใจความรู้ไปด้วยจะได้ทั้ง 3 เรื่อง คือ 1.สิ่งที่เราทำ คือ เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจตัวเอง 2.การเรียนรู้จากเรื่องจริง เป็นทางลัด เพื่อให้ได้เป็นโจทย์จริง บริบทจริง และเป็นวิธีที่ทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาใช้ความรู้เข้าแก้ปัญหา และ 3.การสื่อสารเชิงสาระ รู้จักจัดการความรู้ เป็นอีกทักษะ ที่เชื่อว่า ฝึกทำสิ่งนี้บ่อยๆ สังคมจะสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาได้เอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น