เมื่อเร็วๆ นี้ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนกทมเพื่อปลูกจิตใต้สำนึกด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีนางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายโกสิน เทศวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. รศ. จุรี วิจิตรวาทการ ตัวแทนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.
นางทยา กล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอรัปชันว่า เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกัน ว่าเป็นสิ่งที่กัดกร่อนสังคมไทยและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งในเรื่องของความยากจน ความด้อยพัฒนา การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การเอาเปรียบกันอย่างไม่เคารพกติกา ฯลฯ กรุงเทพมหานครเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างคุณค่าและปลูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนกทม.เพื่อปลูกจิตใต้สำนึกด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงได้เกิด โครงการโตไปไม่โกง เพื่อบรรจุเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนของกรุงเทพมหานคร
“จุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดจริยธรรมขึ้นในจิตใจ ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเกิดความกล้าหาญทางจริยธรรมต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง โดยให้นึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ทั้งนี้โรงเรียนจะเป็นสถาบันหลักทางสังคมที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการหล่อหลอมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นคนที่มีศักดิ์ศรี เชื่อมั่นในความสุจริต และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน”
สำหรับโครงการโตไปไม่โกง (Anti Corruption) มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา โดยมุ่งเน้นเรื่องการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่สอดคล้องกับการป้องกันและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ทั้งฝึกอบรมครูผู้สอนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้มีความเข้าใจในเนื้อหา และมีทักษะที่เพียงพอในการสื่อสารสามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นไปสู่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเผยแพร่และรณรงค์เรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไปสู่สาธารณชนในวงกว้างให้ได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นของกรุงเทพมหานคร ในการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีค่านิยมและจิตสำนึกที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะสามารถเริ่มดำเนินงานตามแผนนโยบายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ครูและนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา 1-3 สังกัดโรงเรียนกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นครูนำร่องที่จะเข้ารับการฝึกอบรม ทั้งหมด 1,400 คน โดยเป็นครูที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการและจากการคัดเลือก รวมถึงการผลิตคู่มือและสื่อการเรียนรู้ให้แก่ครูและนักเรียนชั้นอนุบาลและนักเรียนชั้นประถมเพื่อประกอบการเรียนรู้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น